ห้วยเสนง…ต้นน้ำ…เขากวาง…
จากหยดน้ำ…สู่ลำห้วย…ฝายชุมชน
“ลุ่มน้ำห้วยเสนง” นับเป็นการเดินทางของหนึ่งหยดน้ำที่รวมพลังกับอีกหลายหยดน้ำ จนก่อเกิดเป็นสายธารและลำห้วย จากเทือกเขาพนมดงรักชายแดนไทย-กัมพูชา จนบรรจบกับลำห้วยชี ด้วยความยาวกว่า ๗๕ กิโลเมตร จึงมีเรื่องราวมากมายให้สืบเสาะและค้นหา
จากต้นน้ำที่หล่อเลี้ยงแมกไม้และขุนเขา ยังความสมบูรณ์และสมดุลให้แก่ธรรมชาติ สัตว์ป่าและผู้คน ไหลล่องลงผ่านทุ่งนาและป่าหญ้าในตอนกลาง น้ำลัดน้ำหลาก ในน้ำมีปลาในนามีข้าว คนท้องอิ่มด้วยสายน้ำ น้ำไม่ขาดสายด้วยคนปกป้อง อยู่อย่างเกื้อกูลและพึ่งพากันตลอดการเดินทาง จนท้ายสุดของปลายห้วย ด้วยพลังแห่งหยดน้ำอันมากมายมหาศาล มุ่งสู่เมืองใหญ่เติมเต็มชีวิตศิวิไลของชาวเมือง หล่อเลี้ยงผู้คนเรือนแสนเรือนล้าน จนได้สร้างบ้านแปงเมืองในที่สุด
“ต้นน้ำห้วยเสนง” จากต้นน้ำ ตาน้ำและน้ำซับอันมากมาย ไหลเลาะเซาะร่องเป็นทางน้ำ ผ่านป่าไม้และหุบเขา จากร่องหนึ่งไหลรวมอีกร่องหนึ่ง จากหลายร่องไหลรวมเป็นลำห้วย เปรียบได้ดั่ง “เขาสัตว์” หรือ “เขากวาง” อันมากมายด้วยกิ่งก้าน จากยอดสุดกิ่งเล็ก หลายกิ่งเชื่อมประสาน หลอมรวมเป็นโคนเขาอันแข็งแกร่งและกว้างใหญ่
จากหยดน้ำ ร่องน้ำ เป็นสายน้ำ…
ทว่า เมื่อทรัพยากรธรรมชาติมีจำกัด ขณะที่การพัฒนาและใช้ประโยชน์ของผู้คนดูจะไม่สิ้นสุด คำถามคือจะอยู่ร่วมกันอย่างไรให้สมดุล?
“ฝายชุมชน” เป็นหนึ่งในแนวทางของ “คนต้นน้ำ” ในการจัดการน้ำของชุมชน บนแผนการจัดการพื้นที่ต้นน้ำของชุมชนทั้งระบบแบบมีส่วนร่วมและยั่งยืน ซึ่งเป็นฝายชะลอน้ำขนาดเล็ก ทั้งแบบถาวร กึ่งถาวรและแบบผสมผสาน ด้วยความยาวเพียง ๓-๕ เมตร กว้างประมาณ ๘๐ เซนติเมตร และสูง ๖๐ เซนติเมตร ที่ปรับให้สอดคล้องตามสภาพพื้นที่และระบบนิเวศ โดยจะเริ่มดำเนินการในพื้นที่ป่าชุมชนเป็นลำดับแรก จากนั้นขยายสู่พื้นที่ทำกินของชุมชน ที่ยังคงสภาพของร่องน้ำเดิมบนพื้นที่ต้นน้ำ
“ปั้นฝายได้น้ำ…ให้ป่าให้คน”
จากพลังของกลุ่มคน… สู่พลังของชุมชน…. ดั่งหยดน้ำ… สู่สายธารที่กว้างใหญ่…