เศรษฐกิจชุมชน….คนลำน้ำห้วยเสนง
ว่าด้วย…..เรื่องหมูๆ….แต่ไม่หมู
เรื่องโดย : ปิยศักดิ์ สุคันธพงษ์
ช่วงเช้าวันนี้ อากาศครึ้มๆเย็นสบาย นับเป็นช่วงเวลาดีที่จะพูดคุยเสวนากัน ท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติๆของชุมชน พวกเรา ผม ปิยศักดิ์ สุคันธพงษ์ ผู้เขียน นิรุธและณัฐกานต์ บัวพา ได้พากันแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมยาม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ดีๆกับกลุ่มผู้เลี้ยงปศุสัตว์ ต.เฉนียง อ.เมือง จ.สุรินทร์ นับเป็นกลุ่มระดับแนวหน้ากลุ่มหนึ่ง ที่มีการพัฒนาฐานอาชีพและเสริมสร้างรากฐานความมั่นคงด้านเศรษฐกิจให้กับคนในชุมชน ผู้ที่ช่วยไขและให้ความกระจ่างชัดแก่พวกเราเกี่ยวกับความเป็นมาเป็นไป ผลสัมฤทธิ์และบทเรียนประสบการณ์การพัฒนาฐานอาชีพแบบครบวงจรในวันนี้ คือ นางสาวพิมพ์จันทร์ ประทุมทอง ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มหมูหลุมแบบครบวงจรบ้านกระทม
หญิงร่างเล็กวัยกลางคน ท่าทางกระชับกระเฉงและคล่องแคล่ว คือ แกนนำหลักที่นำพาชุมชนขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาการเลี้ยงปศุสัตว์ หมูหลุม และระบบเกษตรอินทรีย์ บ้านกระทม ต. เฉนียง อ.เมืองสุรินทร์ ซึ่งวันนี้รับภารกิจหลากหลาย แต่ก็สละเวลาช่วงหนึ่ง มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับพวกเรา พร้อมทั้งแกนนำอีก ๒ คน คือ วันเพ็ญ แย้มชูและดารุณี จุฬา
หมู หรือ สุกร..แต่ไม่ใช่..สุกรนั่นไซร์ คือ หมาน้อยธรรมดา เป็นสัตว์เลี้ยงคู่บ้านคู่เรือนคนชนบทมาช้านาน ในอดีต การเลี้ยงหมู่เป็นเสมือนการสะสมหรือการออมทรัพย์ ชาวบ้านนิยมเลี้ยงไว้หลังบ้าน อาหารการกินก็ไม่ยุ่งยากอะไร พืชผักตามธรรมชาติที่ขึ้นบริเวณริมรั่ว สวนหลังบ้าน ท้องนาและเศษอาหารที่เหลือจากการบริโภคในครัวเรือน ก็สามารถนำมาต้มเป็นอาหารหมูได้ ภายหลังต่อมา รูปแบบการเลี้ยงหมูเริ่มเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย มีการจัดทำคอกหรือโรงเรือนแบบพื้นซีเมนต์เพื่อง่ายในการทำความสะอาดและกำจัดมูล อาหารสำเร็จรูปเข้ามาทดแทนอาหารแบบเดิม เพื่อเร่งการเจริญเติบโต ขายได้เร็วขึ้น เนื่องจากการเลี้ยงแบบเดิม ใช้เวลานาน โตช้าและไม่ค่อยถูกสุขลักษณะ การเลี้ยงหมูแบบใหม่ เป็นการเลี้ยงที่มุ่งเน้นเชิงเศรษฐกิจ จากเดิมที่เคยเลี้ยงแค่ตัวสองตัว ก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น เพราะจำนวนมากหมายถึงรายได้หรือเงินที่จะได้มากขึ้นด้วย แต่ผลที่ติดตามมา คือ ปัญหามลภาวะ กลิ่นขี้หมูและแมลงวันก่อความรำคาญและส่งผลกระทบต้อสุขภาพทั้งผู้เลี้ยง ครัวเรือนข้างเคียงและชุมชนอย่างมาก
บ้านกระทม เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่คนในชุมชนประสบปัญหาเรื่องมลภาวะจากการเลี้ยงหมู ช่วงจังหวะนั้น หนูกลับมาอยู่บ้านพอดี…พิมพ์จันทร์กล่าว จึงคบคิดกันว่า..ทำอย่างไรหนอ…จึงจะแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นและแมลงวันได้ นับว่า…เป็นเหตุบังเอิญและเป็นความโชคดีด้วย วันนั้น ไปอบรมที่ ม. เทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตสุรินทร์ ดร.สุทธิศักดิ์ แก้วแกมจันทร์ หรือ อาจารย์ปลวก ได้เข้ามาสอบถามเกษตรกรที่กำลังอบรมอยู่ว่า…. “ใครสนใจเลี้ยงหมูหลุมบ้าง” พอได้ยินเราก็..ปิ้ง ! ทันที กลับจากอบรม ก็ได้นั่งจับเข่าคุยกันว่าจะปรับรูปแบบการเลี้ยง ตามคำแนะนำของอาจารย์ปลวกหรือไม่ อย่างไร เพื่อคลี่คลายปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้น ผลจากการพูดคุยได้ข้อสรุปร่วมกันว่าน่าทำ จากนั้นได้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงหมูหลุมและตัดสินใจรวมตัวกันจัดตั้ง “กลุ่มผู้เลี้ยงหมูหลุม” ขึ้นมา สมาชิกแรกเริ่ม ๖ คน (ปี ๒๕๔๙) เป็นการเลี้ยงแบบขุน โดยจัดซื้อลูกหมูจากฟาร์มที่จังหวัดบุรีรัมย์ ภายหลังต่อมา กลุ่มได้พัฒนาการเลี้ยงหมูแม่พันธุ์ขึ้นมา เพื่อผลิตลูกหมูจำหน่ายให้แก่สมาชิก
ช่วงจังหวะปี พ.ศ. ๒๕๕๑-๕๒ ราคาหมูตกต่ำ ทางกลุ่มได้ปรึกษาหรือกับทางอาจารย์สุทธิศักดิ์ แก้วแกมจันท์ พร้อมทั้งนำข้อเสนอแนะการจัดทำเขียงหมูมาริเริ่มปฏิบัติการชุมชน ระยะแรกช่วยกันขาย แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดเรื่องเวลา จึงได้ปรับระบบการจัดการแบบใหม่ โดยแบ่งภารกิจความรับผิดชอบแต่ละฝ่ายออกอย่างชัดเจน ประกอบด้วย กลุ่มผู้เลี้ยงหมูขุน แม่พันธุ์และการแปรรูปจำหน่าย ทั้งในรูปของเนื้อหมูสด หมูแดดเดียวและไส้กรอกหมู ในช่วงปีเดียวกันนี้ ทางกลุ่มได้จดทะเบียนเป็น “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มหมูหลุมครบวงจรบ้านกระทม” ปัจจุบัน มีสมาชิกถือหุ้น จำนวน ๔๖ คน กระจายอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ ได้แก่ บ้านกระทม สก็วล ตระแก ต.เฉนียง บ้านทมอ หัวแรต โคกเพชร ต.ทมอและหมู่บ้านอื่นๆ อีก ๓-๔ หมู่บ้าน จำนวนสมาชิกที่เลี้ยงหมูจำแนกเป็น หมูขุน ๒๑ ครัวเรือน หมูแม่พันธุ์ ๑๑ ครัวเรือน จำนวน ๓๖ ตัว นอกเหนือจากการเลี้ยงหมู สมาชิกมีการเลี้ยงปศุสัตว์อื่นๆ ดังนี้ ไก่ไข่อินทรีย์ ๕ ครัวเรือน ไก่เนื้อ ๒๐-๓๐ ครัวเรือน โดยเลี้ยงแบบพื้นบ้านผสมผสานกับระบบการเลี้ยงแบบใหม่ ทางด้านอาหารสัตว์นั้น กลุ่มจัดการผสมอาหารตามสูตรมาตรฐานที่กำหนดแจกจ่ายและจำหน่ายให้กับสมาชิก โดยมีเงื่อนไขสมาชิกต้องมาช่วยกันผสมอาหารสัตว์ทุกวันอาทิตย์ อีกส่วนหนึ่ง ก็จะเป็นการเลี้ยงวัวควาย จำนวน ๒๐ ครัวเรือน ประมาณ ๒๐๐ ตัว และการปลูกต้นไม้ (ปลูกไม้ทุกชนิด) มีสมาชิก ๓๓ ราย กระจายอยู่แต่ละหมู่บ้าน ได้แก่ บ้านกระทม สก็วล รำเบอะและบ้านตานวง มีต้นไม้จำนวน ๓,๓๗๕ ต้น กิจกรรมต่อเนื่องจากการเลี้ยงหมู คือ การนำใช้มูลหมูหลุมไปใช้ในกระบวนการผลิตเกษตรอินทรีย์ ทั้งในส่วนของข้าว พืชผัก ไม้ผลและไม้ยืนต้นต่างๆ ผลผลิตที่ได้จากแปลงเกษตรอินทรีย์ ได้นำไปจำหน่ายที่ตลาดเขียว หน้าสำนักงาน อบจ. สุรินทร์และจำหน่ายภายในชุมชน ในส่วนของข้าวอินทรีย์นั้นทางกลุ่มส่งให้กับทางสหกรณ์กองทุนข้าว จำกัด
สิ่งที่เป็นจุดเด่นและน่าสนใจของวิสาหกิจกลุ่มหมูหลุมแบบครบวงจร คือ แนวคิดและหลักการทำงาน พิมพ์จันทร์ กล่าวว่า “เราต้องสร้างความเข้มแข็งของตนเองก่อน ค่อยประสานขอการสนับสนุนจากส่วนอื่นๆ” อีกทั้งหลักสำคัญในการจัดการ ต้องยืนอยู่บนฐาน “ไม่เกินศักยภาพการผลิตของกลุ่มและต้องไม่เหลือ” ด้านการทำงานร่วมกันของกลุ่มนั้นยึดหลักการ “ไว้วางใจกัน” เป็นบรรทัดฐาน จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ ยืนหยัดมาอย่างมั่นคงแบบค่อยเป็นค่อยไปใช้ “ทุนภายในเป็นตัวตั้ง” ไม่ก่อหนี้สิน และพัฒนายกระดับฐานเกษตรกรรมชุมชนให้สามารถพึ่งตนเองได้ ดังคำกล่าวยืนยันของวันเพ็ญ แย้มชู “การทำการเกษตร เป็นการทำงานของตนเอง” เมื่อเราได้รวมตัวกันเป็นกลุ่ม ทำให้สามารถจัดการได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การผลิต แปรรูปและการตลาด